ล้ม/ยุบ/ยกเลิก.. มหาเถรสมาคม..

: ยุทธการตัดต้นโพธิ์ร่มใหญ่ 
แล้วให้อาศัยร่มต้นมะเขือ (๑)

“ใครที่ทำกรรมอะไร .. กรรมนั้นมันก็ให้ผลแก่ตนเอง.. ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้.. ใครทำดี .. ใครทำชั่ว.. อย่างไร.. ผลของกรรมเดี๋ยวนี้เป็นระบบ WIFI ครับ..”
-----------------------------------

  แม้จะมีการเบี่ยงเบนประเด็น ไปเล่นงานเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นข่าวต่อเนื่อง ให้พระพุทธศาสนาในภาพรวมเสียหาย ตามที่เห็นในปัจจุบัน ..



  แต่ความพยายามที่จะล้มล้ม/ยุบ/ยกเลิก หรือจะใช้คำใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ให้มี "มหาเถรสมาคม (มส.)" ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทั้งโดยส่วนบุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงานหลายหน่วยงาน



  จุดประสงค์หลัก คือ เพื่อให้กิจการบริหารงานพระพุทธศาสนา เข้าสู่ภาวะเดินหน้าไปไม่ได้ จนต้องมีกระบวนการ เพื่อที่จะนำ พรบ. คณะสงฆ์ ฉบับใหม่ มาประกาศใช้..

  ความเห็น ณ ขณะนี้ คือ เฉยๆ เพราะคาดการณ์ไว้แล้ว และทุกอย่างเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ คือ ไม่แน่นอน อยู่ในสภาพเดิมได้ยาก และไม่มีอะไรจะยึดเอามาเป็นของตนได้ (เพราะไม่มีตัวตนอยู่) ตามหลักพระพุทธศาสนา

  จะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป.. เมื่อวานที่ผ่านมา กลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น.. เมื่อถึงวันพรุ่งนี้ วันนี้ จะกลายเป็นอดีต..

  หากจะเปลี่ยน เพราะ มส. ผิดตามที่กล่าวหากัน คือ ผิดพระธรรมวินัย ล้าสมัย ทำงานล่าช้า คงไม่ใช่แน่..

  เพราะมหาเถรสมาคม คือ เถรวาท ล้วนๆ (แบบไทย) สิ่งใดไม่ตรงกับแนวปฏิบัติของเถรวาท มหาเถรสมาคมจะไม่ยอมรับอย่างง่ายๆ
ถ้าจะบอกว่า ควรล้ม/ยุบ/ยกเลิกมหาเถรสมาคม เพราะความคิดล้าสมัย มีแต่พระอายุมาก ไม่ทันเหตุการณ์

  คำกล่าวหานี้ ถ้าเป็นเมื่อ ๒๐ ปี กว่า ที่แล้วมา อาจใช่.. แต่มหาเถรสมาคมยุคนี้ ไม่ใช่ครับ..

  ตอบได้เลยว่า การประชุม มส. ก้าวหน้ากว่า การประชุมของคณะกรรมการต่างๆ ทางบ้านเมืองระดับกระทรวง เทียบกับการประชุมคณะรัฐมนตรีเลยก็ว่าได้

  เพราะสำนักพุทธฯ ได้มอบให้ผมไปศึกษา ระบบการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี แล้วนำมาประยุกต์ใช้ ในการสนองงาน มส. และพัฒนามาโดยตลอด จนเป็นดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

  มหาเถรสมาคมจะประชุม เดือนละ ๓ ครั้ง คือ ทุกวันที่ ๑๐, ๒๐ และ ๓๐ ของเดือน จะมีการเลื่อนเข้าหรือออกไปบ้าง เพราะตรงกับวันพระใหญ่และวันหยุดราชการ และอาจมีการประชุมพิเศษได้ การประชุมทุกครั้ง เป็นการกำหนดโดยมหาเถรสมาคม ไม่ใช่สำนักพุทธฯ
ใครที่กล่าวว่า สำนักพุทธฯ นัดประชุม นั้น ให้เข้าใจตรงกันว่า นัดประชุมตามที่ มส. กำหนดไว้ ซึ่งเป็นส่วนของงานธุรการ ไม่ใช่สำนักพุทธฯ เป็นผู้กำหนด

  มหาเถรสมาคมจะพิจารณาเรื่องต่างๆ ในการประชุมต่อครั้ง ประมาณ ๑๐ - ๒๐ เรื่อง ขึ้นไป โดยเฉลี่ย ใช้เวลาประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง
ทำไม มหาเถรสมาคมจึงใช้เวลาน้อยนัก ?

  ตรงนี้แหละ ที่ผู้มีอายุหลายท่านพยายามให้ล้ม/ยุบ/ยกเลิกมหาเถรสมาคม เพราะเห็นว่า หัวเก่า ล้าสมัย ฯลฯ
ความเป็นจริงคือ ท่านล้ำสมัยไปมากกว่า..

  ขนาดการปฏิรูปศาสนา ที่ สนช. จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ขึ้นมา มหาเถรสมาคมก็ได้จัดทำแผนปฏิรูป กิจการพระพุทธศาสนา ควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน และดีกว่า ที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ จัดทำมาหลายช่วงตัว.. แต่ไม่ได้มีการแถลงข่าวกันอย่างเอกกริก.. (จะขอกล่าวในโอกาสต่อไป)


  เพราะ มหาเถรสมาคม ซึ่งมีสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (กรมการศาสนา/สำนักพุทธฯ) รับสนองงาน ได้วางระบบไว้ดี คือ เรื่องทุกเรื่องที่ มส. จะต้องพิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบ/รับทราบ จะต้องมี กรรมการ/ คณะกรรมการ /หน่วยงาน กลั่นกรองเรื่องนั้นๆ ก่อน ก่อนที่จะนำเสนอมหาเถรสมาคม

  เช่น เรื่องขอตั้งวัด หากเป็นเมื่อ ๒๐ ปี กว่าๆ จะต้องใช้เวลาในการประชุมนานมาก คิดเวลาเกือบครึ่งชั่วโมงต่อ ๑ วัด เพราะต้องหาที่มาที่ขอตั้งชื่อ ถ้าชื่อนี้ใช้ไม่ได้ จะต้องใช้อย่างไร ฯลฯ

  มหาเถรสมาคมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ๑ คณะ คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาเป็นรายวัด ตามแบบที่สำนักพุทธฯ เสนอ ซึ่งจะทำเป็นบัญชีๆ ละ ๑๐ วัด เสนอรวมหลายๆ บัญชี ผู้ที่ขอตั้งวัดจะใช้ชื่อใด จะแก้ไข เปลี่ยนเป็นอะไร อยู่ที่คณะกรรมการชุดนี้ แม้เป็น ๑๐๐ วัด ก็ต้องพิจารณาอย่างนี้ทุกวัด

  เมื่อถึงขั้นเสนอมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบ ก็ใช้เวลาไม่ถึง ๒ นาที ในการอ่านและเห็นชอบ/อนุมัติ เพราะเรื่องถูกกลั่นกรองมาก่อนแล้ว โดยคณะกรรมการฯ

  ปัจจุบัน ในห้องประชุม มส. จะมีจอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่าง กรรมการ มส. ๒ รูป สำหรับนำเสนอวาระต่างๆ โดยเฉพาะวาระจร ซึ่งเจ้าคณะชั้นต่างๆ ได้พิจารณามาก่อนแล้ว เพียงนำต้นฉบับมาฉายผ่านจอให้กรรมการ มส. อ่าน ก็พอ

  บางเรื่อง อาจมีการพูดคุย ไต่ถามบ้าง แต่เวลาเป็นมติจะถือเป็นเอกฉันท์ ทุกเรื่อง และเรื่องที่คุย/ถาม หรือเสนอความคิดของใครก็ตาม จะไม่มีการบันทึกไว้ในรายงาน มีเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่จะใส่ไว้

  มีไมโครโฟนติดตั้งสำหรับกรรมการ มส. ทุกรูป /เลขาธิการ มส. /และผู้มาชี้แจง (ถ้ามี).. ไม่ต้องกลัวเรื่องดักฟัง เพราะถ้าเป็นเรื่องลับ จะใช้ระบบให้อ่านในเอกสารเอกสาร เช่น เรื่องสมณศักดิ์ จะมีผู้ทราบเฉพาะ กรรมการ มส. และ เลขาธิการมหาเถรสมาคม เท่านั้น คนอื่นจะถูกเชิญออกจากห้องประชุมหมด

  หลังประชุมเสร็จ จะมีการแถลงผลการประชุม
(เฉพาะที่แถลงได้) เหมือนกับ ครม. แต่จะมีลงข่าวบ้าง ไม่ลงบ้าง ตามแต่สถานการณ์
ถึงแม้จะมีเหตุการณ์/เรื่องใหญ่เพียงใด ถ้าไม่ใช่หน้าที่ มส. จะต้องพิจารณา ก็จะไม่มีมติใดๆ ออกมา คุยได้ แต่ไม่มีมติ เพราะไม่ใช่หน้าที่..


  อ้อ.. ลืมไปว่า อาคารที่ทำการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาคารเดิม ที่มีหลังคาสีฟ้า เป็นอาคารหอสมุด ชื่อ “หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ” ตามที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อมา หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นผู้สร้าง (ไม่รวมหอสมุดพระไตรปิฎก และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในพุทธมณฑล)

  ส่วนอาคารที่ทำการแห่งใหม่ (๑) อาคารหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง (๒) ชื่อ “อาคารหลวงพ่อวัดปากน้ำ” ทั้ง ๒ หลัง และอาคารห้องประชุมมหาเถรสมาคม ชื่อ “อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์”
ขอได้โปรดร่วมอนุโมทนาบุญกับหลวงพ่อท่าน อนุโมทนาด้วยก็ได้บุญคือความอิ่มใจ อย่าไปตาร้อนกับการบริจาคของผู้อื่น เพราะมันทำให้ใจแห้งผาก..

  ณ ปัจจุบัน หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านก็ปฏิบัติศาสนกิจ ในฐานะพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา และในฐานะ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยไม่คำนึงถึงอายุและวัยที่เริ่มเสื่อมไปเรื่อยๆ ไม่เอ่ยถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประเด็นในปัจจุบัน

  ใครที่ทำกรรมอะไร .. กรรมนั้นมันก็ให้ผลแก่ตนเอง.. ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้.. ใครทำดี .. ใครทำชั่ว.. อย่างไร.. ผลของกรรมเดี๋ยวนี้เป็นระบบ WIFI ครับ..


พิศาฬเมธ แช่มโสภา ป.ธ.๙
-----------------------------------
ล้ม/ยุบ/ยกเลิก.. มหาเถรสมาคม.. ล้ม/ยุบ/ยกเลิก.. มหาเถรสมาคม.. Reviewed by Unknown on 02:01 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.